งานสถาปนิก 2564 “มองเก่า ให้ใหม่ : Refocus Heritage” อัพเดทงาน
วันนี้แอดมินมีกิจกรรมที่กำลังจะมาถึงในปี 2564 มาอัพเดททุกคนกันค่ะ กับ งานสถาปนิก ’64
งานแสดงสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ครั้งที่ 34 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage” ชวนผู้ชมมาปรับความคมชัด เรื่องราวมรดกสถาปัตยกรรม สานต่อคุณค่าภูมิปัญญาจากอดีต ร่วมรักษา ปรับใช้ และต่อยอด มรดกอันทรงคุณค่าเพื่อให้คงอยู่กับคนรุ่นต่อไป
ตื่นตาไปกับนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างจากผู้แสดงสินค้ากว่า 850 แบรนด์ทั่วโลก นิทรรศการให้ความรู้ และกิจกรรมเพลิดเพลินมากมาย บนพื้นที่จัดแสดงรวมกว่า 75,000 ตารางเมตร ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดงานเพื่อเผยแพร่วิชาชีพสถาปัตยกรรมมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2529 โดยใช้ชื่องานว่า “สถาปนิก ’29” และได้จัดเป็นประจำทุกปี (ยกเว้นปีพุทธศักราช 2533) จนถึงปัจจุบัน ได้จัดไปแล้ว 33 ครั้ง โดยมีผู้เข้าชมปีละประมาณ 390,000 คน ในแต่ละปี
สำหรับปีพุทธศักราช 2564 นี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ปีพุทธศักราช 2559-2562 มีมติเห็นชอบในการจัดงานสถาปนิก’64 ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 34 ในระหว่างวันที่ 27 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2564 ณ อาคาร ชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
แนวคิดหลักในการจัด งานสถาปนิก ’64
ในสังคมของเราที่ผ่านมา ก็เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้วถึงคุณค่าของงาน สถาปัตยกรรมและ องค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องที่ตกทอดสืบมาจากอดีต โดยใช้คำว่า โบราณสถานโบราณวัตถุ เรียกสิ่งเหล่านี้ที่ทำให้เรานึกถึงแต่เพียงความเก่าแก่ โบราณ ที่ใช้อายุสมัยมาเป็นเครื่องกำหนดคุณค่า หากแต่สาระสำคัญที่แท้จริงของคุณค่าน่าจะอยู่ที่ความตั้งใจในการสร้างสรรค์ขึ้นมาในอดีต เพื่อให้มีคุณค่าสำหรับการใช้สอยในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และเราได้ร่วมกันเห็นถึงคุณค่านั้นที่คู่ควรต่อการรักษาไว้เพื่อส่งต่อจากรุ่นของเราไปสู่คนในรุ่นต่อไป และนี่ก็คือความหมายของคำว่า HERITAGE หรือ มรดก
DESIGN BRIEF
นอกเหนือไปจากมรดกสถาปัตยกรรมกลุ่มที่มีความสําคัญอย่างยิ่งอันเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป และเป็นที่ยอมรับอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่สมควรอนุรักษ์โดยมิได้ต้องมีการทําความเข้าใจกันมากมายนัก อย่างเช่น โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนระดับชาติเป็นต้น ก็ยังมีมรดกสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่ากลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘THE EVERYDAY HERITAGE’ ซึ่งบางครั้งสังคมอาจมองข้ามไปโดยมิได้ตระหนักถึงคุณค่าที่มีอยู่
ไม่ว่าอาจจะเป็นเพราะความใกล้ชิดคุ้นเคยมากจนมองผ่านมันไป ไม่ว่าอาจจะเป็นด้วยสถาปัตยกรรมนั้น แม้ว่ามีคุณค่าอันละเอียดแต่อาจเป็นสิ่งเรียบง่ายไม่ใหญ่โตไม่ได้มีสถานะที่สําคัญที่มีความเป็นพิธีการ ไม่ว่าอาจจะเป็นด้วยสถานที่นั้นอยู่ในสภาพชํารุดทรุดโทรมหรือรกรุงรังจนยากที่จะมองออกถึงคุณค่าที่ซุกซ่อนอยู่ ไม่ว่าอาจจะเป็นด้วยสถานที่นั้นเป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ระดับชาวบ้านเป็นวิถีชีวิตจริงของผู้คนที่บางครั้งถูกมองว่าไม่สําคัญ
ไม่ว่าจะเป็นด้วยสถาปัตยกรรมนั้นมีอายุไม่มากนักไม่รู้สึกเก่าแก่พอที่จะถูกอธิบายได้โดยง่ายว่าเป็นมรดกที่สําคัญทั้งที่มันมีคุณค่าอย่างยิ่งในฐานะตัวแทนอดีตที่เพิ่งผ่านมาได้ไม่นานนัก หรือจะด้วยสาเหตุอื่นใดก็แล้วแต่ อันทําให้ผู้คนอาจไม่ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของมรดกทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้มากเท่ากับคุณค่าที่มันมี และเป็นที่น่าเสียดายที่ ‘THE EVERYDAY HERITAGE’ รอบๆ ตัวเราเหล่านี้หลายแห่งก็ถูกรื้อทําลายไป มันกําลังค่อยๆเลือนหายไปเรื่อยๆ อย่างน่าเสียดาย
แต่การอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมก็มิได้จําเป็นเสมอไปที่จะเป็นเพียงการซ่อมแซมให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม หรือกลับมาใช้สอยแบบดั้งเดิมแต่เพียงเท่านั้น อาจจะเป็นโอกาสอันดีเสียอีกสําหรับ ‘THE EVERYDAY HERITAGE’ ที่อาจจะถูกเปิดกว้างยอมรับอิสระทางความคิดสร้างสรรค์ที่จะเกิดการสร้างสรรค์ใหม่ๆ เข้าไปในพื้นที่ได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับมรดกสถาปัตยกรรมแบบทางการที่ทุกคนจับตามอง หรือถูกกฎหมายควบคุมไว้แล้วอย่างเข้มข้น
การประกวดแบบครั้งนี้เป็นการชักชวนให้ผู้เข้าร่วมได้มาช่วยกันมองหา ‘THE EVERYDAY HERITAGE’ มรดกสถาปัตยกรรมที่อาจถูกหลายคนมองข้ามไป หรือถูกให้คุณค่าน้อยกว่าศักยภาพของมัน และนําเสนอพื้นที่จริงนั้น พร้อมเสนอการออกแบบทาง สถาปัตยกรรมเข้าไปในพื้นที่เดิม (architectural intervention) ในแนวทางที่เหมาะสม เพื่อวัตถุประสงค์ที่เหมาะสม และเกิดการต่อยอดคุณค่าในมรดกสถาปัตยกรรมที่ซ่อนเร้นอยู่เดิม ให้เกิดคุณค่าและความหมายใหม่ที่ร่วมสมัยอย่างสร้างสรรค์
ลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่: www.asaexpo.org
Swedish Firm’s Enables Strategic Acceleration in 3D Digital Twin Market
ใส่ความเห็น
คุณต้องเข้าสู่ระบบ เพื่อจะพิมพ์ความเห็น